ไตหาหัวจาม ตามหาหัวใจ เอ้ย ไม่ใช่! วันนี้หมอจะมาพูดเรื่องไตวาย ไตเสื่อมสภาพ โรคเบาหวาน และการรับประทานอาหารหรือลดน้ำหนักที่เหมาะกับคนที่กังวลหรือกำลังเป็นโรคไต การรับประทานอาหารแบบคาร์นิวอร์ ไดเอท, คีโตจีนิค และ IF มีนัยสำคัญในการช่วยรักษาสุขภาพ แต่ก็ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคไตระดับ 2 ขึ้นไป มาอ่านรายละเอียดกันเลยครับ
ไตวายคืออะไร?
ไตวาย คือ ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ ไม่สามารถกรองของเสียหรือสารพิษออกจากเลือดได้อย่างปกติ
หน้าที่ของไตคืออะไร?
“ไต” เป็นอวัยวะสำคัญ มีรูปร่างคล้ายถั่ว มีอยู่สองข้างอยู่บริเวณบั้นเอวไปทางด้านหลังของร่างกาย สามารถเสื่อมได้ตามอายุที่มากขึ้น โดยปกติแล้ว ไตมีหน้าที่หลัก คือ กำจัดของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกาย และควบคุมสมดุลกรดเบส และ เกลือแร่ รวมทั้งสร้างฮอร์โมนและควบคุมความดันโลหิต ไตสามารถเสื่อมสภาพได้หลายรูปแบบ ประกอบด้วย ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรัง หินปูนในไต เป็นต้น
สาเหตุของไตวาย
ภาวะไตวายเรื้อรัง สาเหตุหลักมักเกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง (แปะดาวสามดวงย้ำไว้เลยครับ สาเหตุยอดฮิต)
ไตวายมี 3 ประเภท
1. ไตเสื่อมสภาพฉับพลัน Acute Renal Failure
ภาวะไตวายฉับพลัน หรือ ไตเสื่อมสภาพฉับพลัน จู่ ๆ ไต ก็เสื่อม ไม่สามารถทำงานได้ตามระดับปกติ มีสาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่อไตถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ไตทำงานผิดปกติ ส่วนการที่เนื้อเยื่อไตถูกทำลายอย่างรวดเร็วนั้น สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากผลข้างเคียงจากการเป็นโรค เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การแพ้ยา รวมไปถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ส่วนอุบัติเหตุนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สามารถทำให้เนื้อเยื่อไตถูกทำลายได้เช่นกัน แต่เกิดขึ้นน้อยกว่าโรคที่กล่าวไปข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะ “ไตเสื่อมสภาพฉบับพลัน” หากหาสาเหตุได้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้การทำงานของไตกลับมาเป็นปกติได้ครับ
2. ไตเสื่อมสภาพเรื้อรัง Chronic Renal Failure
ภาวะ “ไตเสื่อมสภาพเรื้อรัง” หมายถึงภาวะที่ไตค่อย ๆ เสื่อมสภาพ ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นปี ก็เลยเรียกว่าไตวายเรื้อรัง มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ซึ่งทำให้การกรองของไตผิดปกติ ภาวะไตเสื่อมสภาพเรื้อรังสามารถแบ่งความรุนแรงได้เป็น 5 ระดับ ยิ่งระดับสูงขึ้น ความรุนแรงของโรคก็มากขึ้น และสามารส่งผลให้เกิดการขับของเสียหรือการปรับสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ
3. ไตวายระยะสุดท้าย หรือ ESRD (End Stage Renal Disease)
สภาวะไตวายระยะสุดท้าย คือ สภาวะที่ไตทำงานไม่ดี หรือ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการกรองของเสียภายในร่างกาย ทำให้ของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย เมื่อเกิดไตวายระยะสุดท้ายแล้ว ทางแพทย์ผู้ดูแลก็จะมีการพิจารณาเรื่องการทำ “เส้นฟอกไต”
และตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 2 เรื่องไตวายเรื้อรังว่าระดับความรุนแรงมี 5 ระดับ “ไตวายระยะสุดท้าย” เทียบได้ว่าเป็นความรุนแรงระดับ 5 และถึงเวลาที่ต้องฟอกไตนั่นเองครับ
เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีภาวะไตเสื่อมสภาพเรื้อรัง มีมากถึง 15% ของประชากรทั้งหมดในโลก และสาเหตุส่วนใหญ่ ก็มาจากการเสื่อมสภาพไปตามอายุที่มากขึ้นครับ
ส่วนสาเหตุยอดฮิต ที่นำไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้าย ก็คือ โรคเบาหวานครับ นอกจากนี้ก็ยังมีโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม โรคความดันโลหิตสูงนั้นก็มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน ฉะนั้นทุก ๆ ท่านควรดูแลรักษาร่างกายให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้
การลดน้ำหนัก กินคีโต Keto และ คาร์นิวอร์ ไดเอท (Carnivore Diet) ช่วยอะไรกับคนเป็นโรคเบาหวานได้บ้าง?
ดังเช่นที่กล่าวไว้ในข้อ 3 เรื่องไตวายระยะสุดท้าย ว่าสาเหตุหลักนั้นมาจากโรคเบาหวาน รองลงมาคือโรคความดันโลหิตสูง แต่คนที่เป็นความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเบาหวานอยู่ดี โดยการเป็นโรคเบาหวาน หรือ การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ก็ส่งผลให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ Glycation end-products(AGEs) มาจับกับน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวการในการทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ในระยะยาวสามารถทำลายโครงสร้างของเนื้อเยื่อได้ โดยปกติไตของมนุษย์จะทำหน้าที่สำคัญในการกำจัด AGEs แต่เมื่อมีปริมาณน้ำตาลเข้ามามาก และไตก็ทำหน้าที่ซ้ำ ๆ จน AGEs สะสมในไตเยอะ ทำให้ไตเสื่อมสภาพ
การรับประทานอาหารแบบคาร์นิวอ ไดเอท (Carnivore Diet หรือ คีโตจีนิค (Ketogenic) สามารถช่วยได้ เพราะการใช้พลังงานคีโตน เป็นพลังงานที่ทำให้ลดการใช้น้ำตาลในเลือด และลดการสะสม AGES ด้วยเช่นกัน
เมื่อคุณหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มแป้ง หรือ น้ำตาลที่ไม่ดี ก็จะทำให้สุขภาพของคุณดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากคณเลือกที่จะทานอาหารแบบคาร์นิวอไดเอท หรือ คีโต หมอก็ไม่แนะนำให้ทานอาหารกลุ่มแปรรูป หรือ เนื้อแปรรูปนะครับ เพราะอาหารแปรรูปมักประกอบไปด้วยไขมันทรานซ์ และสารที่ทำให้รักษาสภาพ ซึ่งสามารถเป็นพิษต่อร่างกาย อาหารบางประเภทยังมีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสที่มากเกินไปอีกด้วย (ใช้ในการรักษาสภาพ)
คนที่เริ่มเป็นโรคไตเสื่อสภาพ ควรให้ความสำคัญกับการจำกัดเกลือแร่ในร่างกาย เนื่องจากไตของท่านอาจไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างปกติแล้ว
อาการโรคไต
- คลื่นไส้ หรือ คลื่อนไส้จนอาเจียน
- รู้สึกไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- มีปัญหาในการนอนหลับ
- ปัสสาวะผิดปกติ
- เป็นตะคริวหรือปวดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการขับออกของเกลือแร่ผิดปกติ
- ตัวบวม บวมขา บวมเท้า
- บางคนรู้สึกคันตามตัว
- เหนื่อยแน่นหน้าอกได้ในคนที่มีอาการรุนแรงเพราะน้ำคั่งในปอดและหัวใจ
- ความดันโลหิตสูงเนื่องจากฮอร์โมนในไตควบคุมได้ไม่ดีดังเดิม
การดูแลไตด้วยตัวเอง
มีหลากหลายวิธีในการดูแลสุขภาพไตให้ดีอยู่เสมอ เช่น การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ การดูแลร่างกายให้ลดความเสี่ยงต่อภาวะ NCDs ลดลง และนอกจากนี้ การปรับโภชนาการด้วยการจำกัดคาร์บ หรือ คาร์โบไฮเดรต เช่นการทานคาร์นิวอร์ ไดเอท หรือ คีโตจีนิคไดเอท และ การทำ IF ก็ส่งผลดีในเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การทานอาหารที่ใช้พลังงานคีโตนก็ไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคไตระดับ 2 ครับผม
1. ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสม (Optimal Hydration)
การดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เป็นพฤติกรรมดีที่ช่วยดูแลไต ช่วยในการกรองของเสียในไต ช่วยเรื่องการปรับสมดุลเกลือแร่และกรดเบส และยังช่วยชะลอการเสื่อมของไตอีกด้วย ในทางกลับกัน หากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ก็สามารถส่งผลเสียต่อการทำงานของไตมากขึ้น ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือมากกว่านั้น เทคนิคที่สำคัญที่หมออยากแนะนำคือ ให้เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยครึ่งลิตร – หนึ่งลิตรในช่วงเช้า
2. การจำกัดเวลากินอาหาร (Intermittent Fasting)
มีงานวิจัยรองรับมากมายถึงประโยชน์ของการจำกัดเวลากินอาหาร ทั้งในเรื่อง กระตุ้นภูมิต้านทาน กระตุ้นเซลล์ให้ผลัดเปลี่ยนเป็นเซลล์คุณภาพดี และที่สำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพให้ฮอร์โมนที่สำคัญอย่างอินซูลินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน รวมไปถึงภาวะไตเสื่อมด้วยนั่นเองครับ
สรุปใจความสำคัญได้ว่า ไตเป็นอวัยวะสำคัญ เสื่อมได้ตามอายุที่มากขึ้น การถนอมไต ทำได้ด้วยการดื่มน้ำให้มาก กินอาหารโภชาการที่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังอย่างเบาหวานและความดัน และควรฝึก IF ด้วยครับ
ข้อมูลอ้างอิง
- Why Are the Kidneys So Important? National Kidney Foundation.
- How do the kidneys work? PubMed Health, 2018 March.
- Brown L, Clark P, et al., Identification of Modifiable Chronic Kidney Disease Risk Factors by Gender in an African-American Metabolic Syndrome Cohort, 2010 Mar-Apr; 37(2): 133-142.
- Busch M, Franke S, et al., Advanced glycation end-products and the kidney. 2010 Aug; 40(8): 742-55.
- Nazar C, Bojerenu M, et al., Efficacy of dietary interventions in end-stage renal disease patients; a systemic review. 2015 Oct; 5(1): 28-40. PMID: 28197497
- Bouby N, Clark W, et al., Hydration and Kidney Health. 2014 May; 7(Supp 2): 19-32. PMID: 24853348
- Mattson MP, Longo VD, Harvie M, Impact of intermittent fasting on health and disease processes. 2017 Oct, 39: 46-58; PMID: 27810402
- https://drjockers.com/kidneys-health-natural-remedies
This post was created with our nice and easy submission form. Create your post!